1. อาหาร ในผู้สูงอายุต้องการพลังงานลดลง แต่ความต้องการสารอาหารต่างๆ ยังใกล้เคียงกับวัยผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ควรลดอาหารประเภทไขมัน (น้ำมันจากสัตว์ และพืช ไข่แดงเนย) ประเภทคาร์โบไฮเดรต (ข้าว แป้ง และน้ำตาล) ผู้สูงอายุ ควรได้รับโปรตีน หรือกลุ่มเนื้อสัตว์ ประมาณ 50-60 กรัมต่อวัน ควรเป็นเนื้อสัตว์ที่ย่อยง่าย โดยเฉพาะปลาจะดีที่สุด ผู้สูงอายุกินไข่ขาวได้ไม่จำกัด แต่ควรกินไข่แดงไม่เกิน 3 ฟองต่อสัปดาห์ ควรกินผักทั้งผักที่ใช้ใบ หัว และถั่วต่างๆ รวมถึงรับประทานผลไม้ที่ไม่หวานจัด เพราะถ้ารับประทานหวานมาก อาจจะทำให้เกิดโรคเบาหวาน ตามมาได้
2. ออกกำลังกาย ผู้สูงอายุควรออกกำลังกาย สัปดาห์ละประมาณ 3-4 ครั้ง เพื่อให้ร่างกายมีความคล่องตัว แข็งแรง ลดการนอนติดเตียง ซึ่งจะทำให้การทรงตัว และการเคลื่อนไหวดีขึ้น ไม่หกล้มง่าย
3. ร่างกาย พยายาม ลด ละ เลิก บุหรี่ เหล้า หรือพฤติกรรมเสี่ยง ต่าง ๆ รวมทั้งสังเกตการทำงานของอวัยวะในร่างกาย รวมถึงการขับถ่าย เป็นต้น พร้อมทั้งเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่อายุประมาณ 65 ปี เป็นต้นไป
4. การขับถ่าย ต้องให้ความสนใจเรื่องการขับถ่ายของผู้สูงอายุ บางรายอาจมีปัญหาระบบขับถ่าย ถ่ายยาก ถ่ายลำบาก หรือกลั้นขับถ่ายไม่ได้ ซึ่งจะต้องคอยสอบถาม และให้การดูแลอย่างใกล้ชิด
5. อากาศ ผู้สูงอายุหลายท่านอาจเกิดความเบื่อ หรือมีภาวะติดเตียง ซึ่งควรมีการพาผู้สูงอายุออกไปรับอากาศนอกบ้าน รับแสงอาทิตย์บ้างอย่างสมั่มเสมอ นอกจากจะดีต่อสุขภาพแล้ว ยังมีผลดีต้ออารมณ์อีกด้วย หากได้รับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่เหมาะสม
6. อารมณ์ ผู้ดูแลควรใส่ใจ และเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของผู้สูงอายุ และจิตใจของผู้สูงอายุ เพื่อช่วยให้การมีชีวิตอยู่แต่ละวันมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น ผู้สูงอายุควรพยายามเข้าร่วมในสังคมกลุ่มต่างๆ ตามสมควร การมีเพื่อนรุ่นเดียวกัน หรือต่างรุ่นจะทำให้มีความอบอุ่น รู้สึกถึงคุณค่าของตน และลดโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้
7. อุบัติเหตุ ในผู้สูงอายุอาจทำให้เกิดความบาดเจ็บ หรือความพิการต่างๆ ได้ทุกเวลา ควรดูแลสภาพบ้านเรือนให้ปลอดภัย มีแสงสว่างพอเหมาะ ของไม่รก พื้นไม่ลื่น หรือควรมีราวจับในบริเวณที่อาจเกิดอุบัติเหตุได้บ่อยๆ เช่น ห้องน้ำ เป็นต้น
ขอบคุณข้อมูลจาก รพ. เปาโล