หมู่ที่ 1 เนื้อสัตว์ ไข่ นม ถั่วเมล็ดแห้งต่าง ๆ ให้สารอาหารประเภทโปรตีน ที่มีหน้าที่เสริมสร้างและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย เนื้อสัตว์ที่ผู้สูงอายุควรรับประทานคือ เนื้อสัตว์ที่ไม่มีหนังหรือไขมันมากเกินไป ควรรับประทานประมาณ 2-3ช้อนโต๊ะต่อมื้อ
- ปลา เหมาะมากสำหรับผู้สูงอายุ แต่ควรแกะก้างออกให้หมด
- ไข่ เป็นอาหารที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุเพราะมีคุณค่าทางอาหารสูงมาก ไข่แดง มีธาตุเหล็กในปริมาณสูง ปกติสามารถรับประทานได้สัปดาห์ละ 3-4 ฟอง แต่ถ้าผู้สูงอายุที่มีปัญหาไขมันในเลือดสูงควรลดจำนวนลงหรือบริโภคเฉพาะไข่ขาวเท่านั้น
- นม เป็นอาหารที่มีแคลเซียมและโปรตีนสูง ผู้สูงอายุควรดื่มวันละ 1 แก้ว สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาไขมันในเลือดสูงหรือน้ำหนักตัวมากอาจดื่มนมพร่องมันเนยหรือนมถั่วเหลืองแทนได้
- ถั่วเมล็ดแห้ง เป็นอาหารที่มีโปรตีนสูงและราคาถูก ใช้แทนอาหารพวกเนื้อสัตว์ได้
หมู่ที่ 2 ข้าว แป้ง น้ำตาล เผือก มัน อาหารหมู่นี้ให้สารอาหารคาร์โบไฮเดรตมีหน้าที่ให้พลังงานและความอบอุ่นแก่ร่างกายผู้สูงอายุต้องการอาหารหมู่นี้ลดลงกว่าวัยทำงาน จึงควรรับประทานอาหารกลุ่มนี้แต่พออิ่ม คือ ข้าวมื้อละ 2 ทัพพี ควรเลือกเป็นข้าวไม่ขัดสี หลีกเลี่ยงการกินอาหารรสหวานจัดและของหวาน
หมู่ที่ 3 ผักต่าง ๆ ผักให้สารอาหารพวกวิตามินและแร่ธาตุ ผู้สูงอายุควรเลือกกิน ผักหลาย ๆ ชนิดสลับกัน ควรปรุงโดยวิธีต้มสุกหรือนึ่งเพราะจะทำให้ย่อยง่ายและช่วยให้ขับถ่ายเป็นปกติ แต่ละวันผู้สูงอายุควรรับประทานผักให้ได้มื้อละ 2 ทัพพี
หมู่ที่ 4 ผลไม้ต่างๆ เป็นอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกายคล้ายอาหารหมู่ที่ 3 มีวิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ มากมาย และยังมีรสหวานหอม มีปริมาณของน้ำอยู่มาก ทำให้ ร่างกายสดชื่นเมื่อได้กินผลไม้ ผู้สูงอายุสามารถกินผลไม้ได้ทุกชนิดและควรกินผลไม้ ทุกวันเพื่อจะได้รับวิตามินซีและเส้นใยอาหาร ควรเลือกผลไม้ที่มีเนื้อนุ่ม เคี้ยวง่าย เช่น มะละกอ กล้วยสุก ส้ม ควรรับประทานอย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง ครั้งละ 6-8 ชิ้น สำหรับผู้สูงอายุที่อ้วนหรือเป็นเบาหวานให้หลีกเลี่ยงผลไม้หวานจัด เช่น ทุเรียน ลำไย ขนุน
หมู่ที่ 5 ไขมันจากสัตว์และพืช อาหารหมู่นี้นอกจากจะให้พลังงานและความอบอุ่นแก่ร่างกายแล้ว ยังช่วยดูดซึมวิตามินที่ละลายในน้ำ เช่น วิตามินเอ ดี และเค ผู้สูงอายุต้องการไขมันในปริมาณน้อย แต่ก็ขาดไม่ได้ และถ้าบริโภคไขมันมากเกินไป จะทำให้อ้วน ไขมันอุดตันในเส้นเลือด นอกจากนั้นยังทำให้เกิดอาการท้องอืดท้อง เฟ้อหลังอาหารได้ ควรใช้น้ำมันพืชที่มีกรดไลโนเลอิกปรุงอาหาร เช่น น้ำมันงา น้ำมันมะกอก ควรหลีกเลี่ยงการใช้ไขมันจากสัตว์
ขอบคุณข้อมูลจาก สสส