การมองเห็น
ผู้สูงอายุจะมีการมองเห็นที่ลดลง เนื่องจากสายตาที่ยาวขึ้น
ความสำคัญของผู้ดูแลคือ ปัญหาสายตาที่ทำให้การมองเห็นแย่ลง ทำให้มีโอกาสหกล้มมากขึ้น ดังนั้นการจัดวางแว่นตาให้หยิบใส่ได้สะดวก หรือ การจัดความสว่างของแสงไฟให้เหมาะสม จะช่วยลดความเสี่ยงในการหกล้มได้
การได้ยิน
การได้ยินจะลดลงเรื่อยๆ สิ่งที่น่าสนใจคือความสามารถได้ยินเสียงสูงๆ จะลดลง ดังนั้นการสื่อสารกับผู้สูงอายุควรใช้เสียงต่ำ ในการพูดคุย การเร่งเสียงตะโกนจะทำให้เสียงสูงขึ้นและการได้ยินยากขึ้น
เกร็ดความรู้สำหรับผู้ดูแล
พูดกับผู้สูงอายุด้วยเสียงต่ำ
พูดช้าๆ เว้นวรรคให้ชัดเจน
การพูดโดยให้ผู้สูงอายุเห็นปาก และสบตาจะทำให้การเข้าใจดีขึ้น
กล้ามเนื้อ
ถ้าผู้สุงอายุนอนติดเตียงเป็นเวลานานกว่า 1 วัน กล้ามเนื้อจะมีการฝ่อตัวลงทันที ทำให้หลายครั้งเราจะพบว่าผู้สูงอายุที่เข้าโรงพยาบาล 1 สัปดาห์หากไม่ได้กายภาพ หรือเคลื่อนไหวเลย หลายครั้งทำให้ผู้สูงอายุอ่อนแรงกลายเป็นคนติดเตียงทันที
เกร็ดความรู้สำหรับผู้ดูแล
เราควรรักษามวลกล้ามเนื้อของผู้สูงอายุ ควรกระตุ้นให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรมเคลื่อนที่ และใช้กล้ามเนื้อ
หากผู้สูงอายุไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ ควรทำกายภาพพื้นฐาน เพื่อรักษามวลกล้ามเนื้อ
การรับประทานอาหารที่มีโปรตีน ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นเช่นกัน
กระดูก
ความหนาแน่นของกระดูกจะเพิ่มขึ้นสูงสุดประมาณอายุ 30 ปี จากนั้นจะค่อยๆ ลดลง ในผู้หญิงหลังวัยหมดประจำเดือน มวลกระดูกจะลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้หญิงมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะกระดูกพรุนสูงกว่าผู้ชาย
เกร็ดความรู้สำหรับผู้ดูแล
กระดูกพรุนทำให้การหกล้ม หรือกระแทกทำให้ผู้สูงอายุมีโอกาสเกิดกระดูกหักได้สูง ดังนั้นผู้ดูแลต้องคิดในใจเสมอว่าผู้สูงอายุทุกคนมีภาวะกระดูกพรุน
ผู้สูงอายุอาจมีส่วนสูงที่ลดลงจากกระดูกที่ทรุดตัว
หัวใจ
การบีบตัวของหัวใจเพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกายจะลดลง ทำให้ผู้สูงอายุเหนื่อยได้ง่ายกว่าปกติ และในกรณีมีการเปลี่ยนท่าอย่างรวดเร็ว เช่นการลุกขึ้นยืนจากท่านั่งเร็วๆ อาจทำให้เกิดอาการหน้ามืดเนื่องจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอได้
หลอดเลือดหัวใจก็มีการหนาตัวมากขึ้นจากการสะสมไขมัน ทำให้มีโอกาสตีบตันได้ง่ายขึ้น
เกร็ดความรู้สำหรับผู้ดูแล
ผู้ดูแลควรให้ผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงอริยาบทอย่างช้าๆ เพื่อให้หัวใจสามารถทำงานบีบเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกายได้เพียงพอ
อาการเจ็บแน่นหน้าอกในผู้สูงอายุ ผู้ดูแลจะต้องระวังไว้เสมอว่าอาจเป็นอาการแสดงของภาวะโรคหัวใจ
ผิวหนัง
ต่อมเหงื่อของผู้สูงอายุจะฝ่อลดลง ทำให้ผิวแห้งได้ง่าย ทำให้เกิดอาการคันได้
ผิวหนังจะบางลงทำให้เกิดแผลหรือจ้ำเลือดได้ง่าย
เกร็ดสำหรับผู้ดูแล
ควรทาโลชั่น หรือครีมบำรุงเพื่อรักษาความชุ่มชื้นไม่ให้ผิวแห้ง
การเคลื่อนย้ายผู้สูงอายุต้องระวังการเสียดสีที่ผิวหนัง เพราะอาจทำให้เกิดแผล และนำไปสู่การติดเชื้อได้
ระบบการหายใจ
เยื่อบุท่ทำหน้าที่ดักจับเชื้อโรคมีจำนวนน้อยลง ทำให้มีโอกาสติดเชื้อที่ปอดได้ง่ายขึ้น
ความจุปอดลดลง ทำให้มีอาการเหนื่อยได้ง่ายขึ้น
ระบบทางเดินอาหาร
ต่อมรับรสชาติของอาหารลดลง ต่อมน้ำลายลดลง ทำให้ผู้สูงอายุปากคอแห้งและรับรสชาติได้ไม่ดี ทำให้ความอยากอาหารลดลง เคี้ยวอาหารได้ไม่ดี
กระเพาะอาหารบีบไล่อาหารได้ช้าลง ทำให้อิ่มง่าย ท้องอืดเฟ้อได้ง่าย
ระบบทางเดินปัสสวะ
สำหรับชายสูงอายุมีต่อมลูกหมากโตขึ้น ทำให้ปัสสวะไม่ค่อยพุ่ง ต้องเบ่งนาน และรู้สึกขัดเวลาปัสสวะ
ตื่นมาปัสสวะตอนกลางคืน เพราะความจุของกระเพาะปัสสวะลดลง
เกร็ดสำหรับผู้ดูแล
ต้องจำกัดน้ำก่อนเวลาเข้านอน เพราะการที่ต้องตื่นบ่ายจะทำให้คุณภาพในการนอนลดลง
ระบบประสาท
ความสามารถในการจำเหตุการณ์ที่พึ่งเกิดขึ้นไม่นานลดลง และมีความคิดช้าลง แต่ไม่รบกวนกิจวัตรชีวิตประจำวัน
เกร็ดสำหรับผู้ดูแล
ในกรณีที่การลืมมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต หรือ มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ควรไปพบแพทย์เพราะอาจมีภาวะสมองเสื่อม
ระบบภูมิคุ้มกัน
ภูมิคุ้มกันของผู้สูงอายุจะต่ำลง สามารถป้องกันเชื้อโรคได้ลดลง
เกร็ดสำหรับผู้ดูแล
ผู้ดูแลควรฉีดวัคซีน และ รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ไม่เป็นแหล่งแพร่เชื้อให้ผู้สูงอายุ
ขอบคุณข้อมูลจาก health at home